17
ก.ค.

บริษัทในฝันหรืออาชีพที่ขาดแคลนในดิจิทัล

FAsirichai 0 comment

การทำงานที่เคร่งเครียดมากเกินไป อาจไม่ตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่ เพราะหลายคนได้วาดภาพถึงออฟฟิศในฝัน ควบคู่ไปกับการทำงานในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย จนมี 5 บริษัทดิจิทัลที่โดนใจ และอยากเข้าไปทำงานด้วยมากที่สุด

“ออฟฟิศ” คงจะไม่ได้สวยหรูมากไปกว่าการเป็นสถานที่ทำงาน ยิ่งเป็นธุรกิจด้านดิจิทัลด้วยแล้ว คงจะเห็นแต่วิศวกรซอฟต์แวร์นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันเป็นแน่ แท้จริงแล้วบริษัทดิจิทัลกำลังเป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยมากขึ้น

5 บริษัทดิจิทัลที่โดนใจเด็กรุ่นใหม่
ศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยว่า จากการสำรวจบริษัทดิจิทัลที่คนไทยอยากทำงานด้วยมากที่สุด ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า จากความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 376 คน เป็นเพศชาย 57.71 เปอร์เซ็นต์ และเพศหญิง 42.29 เปอร์เซ็นต์ ครอบคลุมทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และพนักงานสายไอที เทคโนโลยี โดยบริษัทที่เลือกนั้นต้องมีทีมวิศวกรพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอยู่ในไทยด้วย

พบว่า LINE ประเทศไทย ได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 65.69 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วย Kaidee ที่ 50.8 เปอร์เซ็นต์, Pantip 45.74 เปอร์เซ็นต์, Wongnai 38.83 เปอร์เซ็นต์ และ Tencent (Thailand) ชื่อเดิม Sanook! อยู่ที่ 37.23 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นเช่นนี้อาจจะด้วยการเป็นบริษัทที่คนไทยใช้งานบ่อยและเป็นที่รู้จัก

ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากตัวแทน 5 บริษัทดิจิทัล โดยตลอดการพูดคุยได้พูดถึงเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องของการขับเคลื่อนวงการเทคโนโลยีและดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งถ้ามองในเรื่องของเทคโนโลยี แต่ก่อนทุกคนจะมุ่งที่อเมริกาเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงทำให้เอเชียเริ่มเกิดและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในไทยเห็นได้จากบริษัทจากต่างชาติเข้ามาตีตลาดมากขึ้น

อย่าง Pantip เอง ที่เป็นสังคมออนไลน์แห่งแรกๆ ของคนไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกอินเทอร์เน็ตกว่า 20 ปี ที่ยังไม่มีใครนับเม็ดเงินของดิจิทัล และเห็นบริษัทอื่นล้มหายไปเยอะพอสมควรไปพร้อมกับเห็นบริษัทดิจิทัลเกิดใหม่ เข้ามาให้บริการและช่วยแก้ปัญหาสังคมที่ดีก็มีเยอะเช่นกัน

Digital-office

ตัวอย่างพนักงานสามารถพักสมองระหว่างทำงาน โดยการทำกิจกรรมร่วมกัน
ของบริษัท tencent (thailand)

ขาดโปรแกรมเมอร์อย่างหนัก หวังสตาร์ทอัพดันอุตสาหกรรม Tech
แต่ในช่วง 5 ปี ให้หลังอุตสาหกรรม Tech เริ่มเติบโตเรื่อยแบบก้าวกระโดด ทำให้คนเริ่มเทเข้ามาจนขาดแคลนคนในส่วนนี้ และสถาบันการศึกษาผลิตแรงงานไม่ทันต่อความต้องการ ที่ขาดหนักสุดคือ “โปรแกรมเมอร์” มีจำนวนน้อย

ขณะที่นักโปรแกรมเมอร์ในประเทศไทยมีจำนวนไม่ถึง 50,000 ราย แต่ความต้องการแรงงานในวงการเทคโนโลยีประมาณ 1 แสนราย รวมไปถึงอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 1 ล้านรายเลยทีเดียว

ส่งผลต่อการผลิตเทคโนโลยีในไทยน้อยกว่าการนำเข้า เป็นปัญหาใหญ่ที่เหล่าบรรดาบุคคลที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยียังมองว่าแก้ยาก แม้ว่าจะมีการเทรนด์ก่อนเข้าทำงานหรือรับคนจบไม่ตรงสาย แต่มีทักษะการเขียนโปรแกรมก็ตาม ก็ยังคงจำเป็นต้องหาทางออกอย่างเร่งด่วนและชัดเจน ไม่เช่นนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะลำบาก ต้องมีการพัฒนาคนให้มีความรู้เรื่องโปรแกรมมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยอาจจะเริ่มจากการเพิ่มหลักสูตรเข้าไปในช่วงชั้นมัธยมก่อน อย่างน้อยให้มีความรู้พื้นฐานในการเขียนโปรแกรม

ยิ่งไปกว่านั้นการเติบโตของสตาร์ทอัพที่คาดว่าจะเป็นตัวผลักดันให้อุตสาหกรรม Tech ทาง Wongnai นั้นเผยว่า สตาร์ทอัพ คือการใช้ Tech ในการเติบโตมีความเสี่ยงมากที่สุด มุมมองในการกล้าที่จะเสี่ยง เพื่อให้เกิดการเติบโตนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นนั้นจะประสบความสำเร็จทุกราย อาจจะมีแค่ 1 ใน 1,000 ราย

รวมไปถึงในยุคนี้หาก CEO มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีน้อยหรือไม่ตามกระแสของเทคโนโลยี เชื่อว่าในอนาคตจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ถ้าไม่ทำตัวให้กลมกลืนหรือปรับตัว อาจจะกลืนกินให้หายไปในไม่ช้า

digital-age-magazine-220-april

ฉบับที่ 220 เดือนเมษายน

จับตลาดในยุคโมบายล์เฟิร์ส

 

เกิดการจ้างงานรูปแบบใหม่ในแวดวงเทคโนโลยี
นอกเหนือจากนักโปรแกรมเมอร์ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อออกมาให้บริการแล้ว ยังมีสายงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นของการทำงานบริษัทดิจิทัล เพื่อมาตอบโจทย์เกี่ยวกับตัวบริการให้มากที่สุด ซึ่งบุคคลที่จะมาดูแลในส่วนนี้นั้นหายาก

ยกตัวอย่าง LINE ที่เปิดรับตำแหน่งงาน Head of Sticker ดูแลในเรื่องของตลาดสติ๊กเกอร์ เป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และยังเป็นสินค้าที่มีเฉพาะ LINE เท่านั้น หรือทาง Tencent ก็ออกหลายผลิตภัณฑ์ เช่น JOOX กำลังมองหาคนทำเกี่ยวกับเรื่อง Music Streaming ที่เป็นเรื่องใหม่และกำลังบุกตลาดอยู่ขณะนี้

รวมไปถึงตำแหน่ง Data Analysis ซึ่งคนที่จะมาดูแลหน้าที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร แต่ต้องเป็นคนที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจำนวนมากได้ หรือ Business Development ที่ต้องเข้าใจพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ ต่างเป็นตำแหน่งที่เงินเดือนสูงพอสมควร และกำลังเป็นที่ต้องการในทุกสายธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม บริษัทดิจิทัลก็ยังคงต้องการแรงงานด้านคนเขียน Content อยู่เช่นเดิม แต่จะแปรเปลี่ยนไปยัง Content บนออนไลน์มากกว่า และยังมองหาคนที่สามารถเขียนลักษณะแบบ Advertial ในสายรถยนต์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นที่ต้องการสูงเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับแวดวงเทคโนโลยี ถ้าไม่ใช่คนชอบการเปลี่ยนแปลงที่เร็วก็ไม่เหมาะกับการทำงานสายนี้ ดังนั้น ต้องเป็นคนที่เสนอได้ ไม่ใช่เพียงแค่มาปรับปรุงและพัฒนาเท่านั้น แต่จะต้องเป็นคนที่อยากจะสร้างบริการใหม่ๆ กล้าเสี่ยงโดยไม่ต้องรอถามผู้บริหารว่าจะทำอย่างไร หรือรอการตัดสินใจจากผู้บริหารทุกๆ เรื่องดังเช่นในอดีต

สร้าง Co-Working Space รวมสตาร์ทอัพไว้ด้วยกัน
เมื่อมองภาพรวมทั้ง 5 บริษัทดิจิทัลที่สามารถโดนใจคนรุ่นใหม่อยากเข้าไปทำงานด้วยแล้วนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าอยากจะได้ผลงานดีๆ จากพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่เขามองพนักงานเป็นเหมือนเพื่อนร่วมงาน และปล่อยให้พวกเขาเกิดไอเดียด้วยตนเอง การที่จะให้พนักงานมีเป้าหมายเดียวกันได้นั้น จะต้องสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดการสื่อสารกันได้อย่างลงตัว

บริษัทอาจจำเป็นจะต้องสร้างบรรยากาศของการทำงานเป็นออฟฟิศในฝันอย่างที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นมีบาร์เครื่องดื่ม โซนพักผ่อน โซนบันเทิง มุมกาแฟ และโซนกิจกรรม เช่น ลู่วิ่ง หรือปิงปอง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการสร้างสรรค์ไอเดีย ต่อไปจะเป็นหัวใจหลักในการสื่อสารของพนักงานให้เกิดการเรียนรู้และเข้ากับวัฒนธรรมของบริษัทได้

Digital-office

พลอยพิชชา บุญทวีพิทักษ์ ผู้ให้บริการประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์ PetInsure

พลอยพิชชา บุญทวีพิทักษ์ ผู้ให้บริการประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์ PetInsure (เพ็ทอินชัวร์) หนึ่งในสตาร์ทอัพที่ใช้ Co-Working Space เป็นพื้นที่ในการทำงานของ อนันดา แคมปัส ที่มีสไตล์แบบ Urban Tech บนผนังกำแพงถูกออกแบบให้สามารถใช้ปากกาเขียนได้ทันทีเมื่อคิดไอเดียออก และสามารถลบออกด้วยกระดาษทิชชู หรือสามารถนั่งทำงานร่วมกันในพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศการทำงานให้กับสตาร์ทอัพได้ดี สิ่งเหล่านี้ช่วยให้สร้างประสิทธิภาพของการทำงานสำหรับพนักงานที่ต้องใช้ไอเดียหรือด้านเทคโนโลยีหากสร้างพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมบรรดาสตาร์ทอัพให้มาทำงานร่วมกันใน Co-Working Space เดียวกันจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อการทำงาน เนื่องจากแต่ละทีมจะมีความแตกต่างในเรื่องของรูปแบบธุรกิจ และมีข้อมูลและความรู้ในด้านนั้นๆ หรือมีเทคนิคเฉพาะด้าน สามารถให้คำปรึกษากันได้ทันที รวมถึงแบ่งปันไอเดียในแนวคิดต่างๆ นำมาปรับใช้กับบริการของตนเอง

“นอกเหนือจากการได้แบ่งปันความคิดร่วมกันแล้ว คือ การให้ความรู้กับเหล่าสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ยังขาดทักษะและประสบการณ์ในการสร้างธุรกิจได้ ต่อไปอาจเห็นฮับสตาร์พอัพของไทย กลายเป็นศูนย์รวมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม Tech ร่วมกัน” พลอยพิชชา กล่าวทิ้งท้าย

Share
0 comment

โพสต์